วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

สวทช.ขึ้นเหนือนำโซลาร์เซลล์ส่งชาวไทยภูเขา

สวทช.ส่งผลงานวิจัยช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทยภูเขาเผยเตรียมติดตั้งเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ให้ศูนย์การศึกษาชนบทในสามจังหวัดภาคเหนือ ด้านอาชีวศึกษาร่วมวงถ่ายทอดทักษะบำรุงรักษาแผงพลังงานให้ชาวบ้าน

รศ.ดร.ศักรินทร์ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช.สนับสนุนให้สถานศึกษาและศูนย์การเรียนชุมชนไทยภูเขา 36 แห่งใน จ.เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน ซึ่งยังไม่มีไฟฟ้าใช้ มีโอกาสผลิตไฟฟ้าใช้เอง เพื่อประโยชน์ด้านการเรียนการสอน ด้วยเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์

สวทช.สนับสนุนงบประมาณโครงการไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ทั้งสิ้น3.5 ล้านบาท เฉลี่ยโรงเรียนละ 1 แสนบาท โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 12 แผง กำลังไฟฟ้า 480 วัตต์ เพียงพอสำหรับหลอดไฟ 11 วัตต์ 6 หลอด เปิดนาน 12 ชั่วโมง รวมทั้งโทรทัศน์ เครื่องเล่นวีซีดี เครื่องขยายเสียงวิทยุสื่อสาร อย่างละ 1 เครื่อง เปิดต่อเนื่อง 2 ชั่วโมง

แผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งในโครงการดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีที่ทีมวิจัย สวทช.พัฒนาขึ้น ในโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาชนบทและผู้ด้อยโอกาส มีต้นทุนอยู่ที่ 8,000 บาทต่อแผง ขณะที่แผงโซลาร์เซลล์นำเข้ามีราคาประมาณ 1.2 หมื่นบาทต่อแผง

"การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ชนบท เป็นงานที่ท้าทาย เพราะต้องพัฒนาความสามารถในการดูแลรักษา เพื่อให้สามารถใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ทำให้การใช้งานโซลาร์เซลล์ในชนบทที่ผ่านมาล้มเหลว" รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าว

นายพันธ์ศักดิ์โรจนากาศ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สำนักงานพร้อมที่จะส่งนักศึกษาอาชีวะร่วมถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการระบบ ตั้งแต่การใช้งาน การดูแลรักษา และการซ่อมบำรุงเบื้องต้น โครงการดังกล่าวนอกจากจะเปิดโอกาสให้นักเรียนชาวไทยภูเขาได้เรียนรู้ผ่านสื่อโทรทัศน์และเครื่องเล่นวีซีดีแล้ว ยังช่วยส่งเสริมความรู้ในเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานทดแทนให้นักเรียนด้วย

ที่มา: http://www.komchadluek.net/2
Link: http://www.komchadluek.net/2008/02/13/x_it_h001_189595.php?news_id=189595

วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

กฟผ.พึ่งพลังน้ำลดโลกร้อนพัฒนากังหันน้ำผลิตไฟฟ้าใช้งานได้จริง

กฟผ.ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัยพลังงานต่อยอดต้นแบบกังหันผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ สู่เครื่องจริงที่มีกำลังผลิต 160 กิโลวัตต์ รับรางวัลชมเชยวันนักประดิษฐ์ ปี 2551 ระบุสามารถขยายสู่โรงไฟฟ้าพลังน้ำทั่วประเทศ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและลดโลกร้อน

นายประโมทย์ฉมามหัทนา ผู้ช่วยผู้ว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม พัฒนากังหันผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อสร้างองค์ความรู้ของไทย และขยายพื้นที่การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไปยังแหล่งน้ำที่มีศักยภาพทั่วประเทศ

ที่ผ่านมาทีมวิจัยสามารถสร้างเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำต้นแบบและพัฒนาเครื่องให้สามารถใช้งานได้จริง โดยติดตั้งและทดสอบใช้งานที่เขื่อนแม่จาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง มาแล้วกว่า 1 ปี ผลงานเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กเขื่อนแม่จางนี้ ได้รับรางวัลชมเชย สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2551

หัวใจของการพัฒนากังหันผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำอยู่ที่การออกแบบรูปร่างของกังหัน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดที่ความสูงหัวน้ำแตกต่างกัน (ความต่างระดับน้ำที่หน้าเขื่อนและท้ายเขื่อน) โดยออกแบบให้สามารถเดินเครื่องได้ที่ความสูงหัวน้ำต่ำกว่าหรือสูงกว่า 13 เมตร ไม่เกิน 10% และมีกำลังผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 160 กิโลวัตต์ นายประโมทย์กล่าว

องค์ความรู้จากการวิจัยเช่น รูปร่างกังหันและชิ้นส่วนต่างๆ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กได้มากกว่าครึ่ง เนื่องจากค่าใช้จ่ายชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศ และค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงจะราคาถูกกว่าการนำเข้า โดยราคาติดตั้งอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นบาทต่อ 1 กิโลวัตต์ จากเดิมที่ใช้เทคโนโลยีต่างประเทศ 6-7 หมื่นบาทต่อ 1 กิโลวัตต์ ทำให้การขยายพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำเป็นไปได้ง่ายขึ้น

ข้อดีของโรงไฟฟ้าพลังน้ำอยู่ที่ความสามารถรับโหลดไฟฟ้าที่มีการเปลี่ยนแปลงมากได้เช่น หากมีความต้องการไฟฟ้าจำนวนมากในเวลากะทันหัน โรงไฟฟ้าพลังน้ำสามารถผลิตไฟฟ้าให้ได้ทันทีในเวลาไม่เกิน 5 นาที ขณะที่โรงไฟฟ้าประเภทอื่นทำไม่ได้ ดังนั้น การส่งเสริมให้ติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมากขึ้น จึงตอบสนองนโยบายรัฐบาล ในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ลดโลกร้อนและลดการนำเข้าไฟฟ้า

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/02/07/x_it_h001_188908.php?news_id=188908

วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

เอไอทีเปิดแข่งรถไร้คนขับระบุกติการถต้องมีผู้โดยสาร 1 คน

สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียเปิดรับสมัครนักซิ่งสมองกลร่วมแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะไร้คนขับ เผยสนามแข่งปีที่ 2 เพิ่มระดับความยาก กำหนดให้บรรทุกผู้โดยสารจำลอง 1 คน ต้องวิ่งระยะทางที่ยาวขึ้นและเร็วขึ้น ผู้ชนะเลิศรับรางวัลเงินสด 3 แสนบาท

การแข่งขันรถอัจฉริยะไร้คนขับชิงแชมป์ประเทศไทยจัดขึ้นเป็นปีที่2 โดยแชมป์ปีที่แล้ว คือ ทีมแจ็ค-โอ-แลนเทิร์น (Jack-O-Lantern) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถควบคุมรถไร้คนขับให้วิ่งไปบนเส้นทางที่กำหนด ที่มีสิ่งกีดขวางและปฏิบัติตามกฎจราจรได้มากที่สุด โดยทำระยะทางได้ 270.30 เมตร ที่สนามบางกอก เรซิ่ง เซอร์กิต ถนนศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ

รศ.ดร.มนูกิจพานิชกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทนิกส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะไร้คนขับชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2551 กล่าวว่า กติกาในปีนี้จะต่างจากปีที่แล้ว โดยเพิ่มความเร็วในการแข่งขันจากเดิม 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเพิ่มระยะทางเป็น 1,800 เมตร จากเดิม 1,600 เมตร

รวมทั้งต้องนำรถที่ใช้อยู่ทั่วไปมาดัดแปลงเพิ่มความเป็นอัจฉริยะโดยจำกัดขนาดรถให้มีหน้ากว้าง 1 เมตร และยาว 2 เมตร ที่สำคัญต้องสามารถบรรทุกผู้โดยสารจำลอง ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 60 กิโลกรัม ได้ 1 คนในขณะเคลื่อนที่

นอกจากความเร็วที่ใช้ในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นแล้วอุปกรณ์ที่ติดตั้งให้รถไร้คนขับยังเปิดกว้างมากขึ้น ทั้งตัวเซ็นเซอร์ อุปกรณ์ควบคุมและรถที่ใช้แข่งขัน ซึ่งสามารถตัดสินใจเลือกได้เองแทบทั้งหมด ส่วนอุปกรณ์ที่ได้รับการยืดหยุ่นให้ใช้ในการแข่งขันปีนี้ได้ เช่น เรดาร์ กล้อง เลเซอร์ จีพีเอส และแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งแล็ปท็อปและพีซี คอมพิวเตอร์อุตสาหกรรม รวมถึงคอมพิวเตอร์แบบฝังตัว เป็นต้น

เวทีแข่งขันสร้างรถไร้คนขับนี้รับสมัครเฉพาะนักศึกษาเท่านั้นซึ่งเปิดกว้างตั้งแต่ระดับอาชีวศึกษาจนถึงปริญญาเอกในสาขาวิชาด้านไฟฟ้า เครื่องกล คอมพิวเตอร์ หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่หากไม่มีความรู้ด้านนี้โดยตรง ทางเอไอทีจะฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงาน ตลอดจนถึงการพัฒนาตัวรถสำหรับการแข่งขันสนใจดูรายละเอียดได้ที่ www.trs.or.th หรือ http://tivc.ait.ac.th และปิดรับสมัคร 22 กุมภาพันธ์นี้

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/02/04/x_it_h001_188434.php?news_id=188434

ดิกชันนารีพูดได้เม้าส์ชี้แปลทันที

เอกชนไทยเปิดตัวพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์เพียงขยับเม้าส์ให้ลูกศรชี้คำศัพท์เป้าหมาย ก็จะปรากฏคำแปลขึ้นทันที พร้อมเสียงอ่านที่ถูกต้องจากเจ้าของภาษา

ซอฟต์แวร์พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเป็นผลงานการพัฒนาของบริษัทจีเนียส เมกาซอฟท์ส เอนเทอร์ไพรเซอร์ จำกัด บริษัทของคนไทยที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์

นายพีระพงษ์ปทุมราษฎร์ ประธานกรรมการบริษัท จีเนียสฯ กล่าวว่า ทีมงานใช้เวลากว่า 1 ปี พัฒนาพจนานุกรมสำหรับคอมพิวเตอร์ในชื่อ "เมก้าดิกต์" (MegaDict) ซึ่งมีจุดเด่นคือ ความสามารถในการแสดงผลคำแปลทันที เพียงชี้เม้าส์ไปยังคำที่ต้องการ โดยไม่ต้องเปิดโปรแกรมขึ้นใช้งานและใส่คำค้น

นอกจากนี้ผู้ใช้ยังกดฟังเสียงสำเนียงภาษาอังกฤษของคำหรือประโยคนั้น พร้อมแสดงผลคำข้างเคียงและไวยากรณ์ บทเรียนและเนื้อหาเบื้องต้นที่ใช้ร่วมกับคำที่ต้องการค้น ทำให้เพลิดเพลินกับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

"ทีมงานนำข้อมูลฐานคำศัพท์กว่า 2 แสนคำ จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) มาบรรจุไว้ในพจนานุกรม แถมยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถปรับปรุง หรือเพิ่มเติมฐานคำศัพท์ใหม่ด้วยตัวเอง" นายพีระพงษ์ กล่าวและว่า ซอฟต์แวร์ดังกล่าวได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากโครงการไทยแลนด์ ไอซีที อวอร์ด เมื่อปี 2550 ในประเภทซอฟต์แวร์การศึกษา

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ไปทดลองใช้งานฟรี20 วัน ผ่านเว็บไซต์ www.megadict.com

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/02/04/x_it_h001_188433.php?news_id=188433

วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

เอ็มเทคพัฒนา'เทสต์คิด'ไบโอดีเซลชุมชน


เอ็มเทคส่งเสริมคุณภาพไบโอดีเซลที่ผลิตจากชุมชน เผยออกแบบชุดคุณภาพ เน้นราคาถูกและใช้ง่าย หนุนผู้ผลิตตรวจสอบก่อนส่งขาย ย้ำชัดไบโอดีเซลที่ได้มาตรฐานไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ดร.อ้อยใจ ทองเฌอ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เอ็มเทคพัฒนาชุดตรวจคุณภาพไบโอดีเซล ที่ใช้ง่าย ราคาถูก และทราบผลเร็ว แทนการส่งตัวอย่างไปตรวจในห้องปฏิบัติ ถือเป็นการสร้างมาตรฐานให้เชื้อเพลิงไบโอดีเซลในประเทศ

เชื้อเพลิงไบโอดีเซลผลิตจากพืชน้ำมัน เช่น ปาล์ม ละหุ่ง สบู่ดำ รวมถึงน้ำมันพืชใช้แล้ว ที่นำมาผ่านกระบวนการทางเคมีให้มีสมบัติใกล้เคียงน้ำมันดีเซล

ปัจจุบันมีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลในระดับครัวเรือนและระดับชุมชนอย่างแพร่หลาย โดยใช้เครื่องหีบน้ำมันขนาดเล็ก จนถึงเครื่องผลิตขนาดใหญ่ ขณะที่ไบโอดีเซลที่ผลิตได้ในระดับชุมชน ยังขาดการตรวจสอบและรับรองคุณภาพ

การตรวจสอบที่มีอยู่ในปัจจุบัน ต้องส่งตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ที่รับบริการตรวจวิเคราะห์ ซึ่งค่าบริการสูงถึง 3,000 บาทต่อครั้ง

ด้วยเหตุนี้เอ็มเทคจึงพัฒนาชุดตรวจคุณภาพน้ำมันไบโอดีเซลอย่างง่าย โดยตรวจวัดคุณสมบัติเบื้องต้น 3 ประการของไบโอดีเซล คือ ค่าความหนาแน่น ค่าความหนืด และค่าความเป็นกรด ซึ่งทั้งสามปัจจัยล้วนส่งผลต่อคุณภาพของน้ำมันไบโอดีเซล

ยกตัวอย่างค่าความหนืดจะส่งผลต่อการฉีดน้ำมันเป็นละอองฟอง ช่วยให้เกิดการเผาไหม้สมบูรณ์ในห้องเครื่อง แต่หากค่าความหนืดไม่ได้มาตรฐานก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการเผาไหม้ในห้องเครื่อง และเกิดปัญหาควันดำตามมา

ค่าความหนืดตามมาตรฐานของไบโอดีเซลที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส จะต้องอยู่ที่ 3.5-5.0 เซนติสโตก ซึ่งเดิมจะต้องวัดค่าดังกล่าวด้วยเครื่องวัดความหนืดเฉพาะ หรือไคเนเมติก

"นักวิจัยเอ็มเทคศึกษาหาสารละลายที่ใช้วัดระดับความหนืด เพียงเทตัวอย่างน้ำมันไบโอดีเซลลงในหลอดทดลอง จากนั้นหย่อนเม็ดพลาสติกลงไป แล้วดูว่าเม็ดพลาสติกจมหรือลอยอยู่ในระดับเท่าไร ก็นำค่าที่ได้มาเปรียบเทียบกับตารางมาตรฐาน

ส่วนการทดสอบค่าความเป็นกรด ใช้วิธีเดียวกับข้างต้น เพียงแต่เปลี่ยนสารละลายเป็นตัวใหม่ แล้วสังเกตสีที่เปลี่ยนแปลงและอ่านค่าตามที่กำหนด เช่นกัน" ดร.อ้อยใจ กล่าว

ปัจจุบันทีมวิจัยกำลังพัฒนาชุดทดสอบคุณภาพไบโอดีเซลในด้านอื่นๆ อีกทั้งต้องดูคุณสมบัติทั้งด้านกายภาพและทางเคมี เช่น ระดับน้ำและตะกอน จุดวาบไฟ ค่ากำมะถัน และไอโอดีน เป็นต้น เนื่องจากการตรวจสอบคุณภาพของน้ำมันจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง
หากพัฒนาสำเร็จจะส่งเสริมให้มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภค ให้หันมาใช้ไบโอดีเซลแพร่หลายมากขึ้น นอกจากการจะใช้ปัจจัยด้านราคาดึงดูดความสนใจ

ทั้งนี้ การวิจัยโดยเอ็มเทคร่วมกับกรมอู่ทหารเรือ พิสูจน์ชัดแล้วว่าไบโอดีเซลที่มีคุณภาพ ไม่ส่งผลกระทบต่อสมรรถนะเครื่องยนต์ ปลอดจากสารกำมะถัน ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยลดมลพิษในอากาศ โดยเป็นข้อสรุปที่ได้หลังจากทำการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานมานานกว่า 7 ปี

จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2008/02/03/WW54_5401_news.php?newsid=225271

วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2551

ชี้ "มันสำปะหลัง" เป็นพลังน้ำมันสนองใช้แก๊สโซฮอล์


อาจารย์เกษตรศาสตร์ระบุ "มันสำปะหลัง" จะเป็นพลังตอบสนองนโยบายส่งเสริมใช้แก๊สโซฮอล์ ทั้งลดภาษีรถยนต์ E20 และไม่ต้องชำระเงินกองทุนน้ำมัน เหตุมันสำปะหลังปลูกง่ายและให้ผลผลิตตลอดทั้งปี

รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีโรจ รองผู้อำนวยการสถาบันผลิตผลอุตสาหกรรมการเกษตร (KAPI) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ระบุนโยบายส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์จากการลดภาษีให้กับรถยนต์ E20 ซึ่งส่งผลให้ค่ายรถต่างๆ ประกาศขายรถยนต์ E20 ร่วม 1.4 แสนคัน รวมถึงผู้ค้านน้ำมันไม่ต้องนำกำไรจากการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์เข้าสมทบกองทุนน้ำมัน จะทำให้มีความต้องการใช้แก๊สโซฮอล์มากขึ้น ทั้งนี้ปัจจุบันมีการใช้น้ำเบนซินวันละ 20 ล้านลิตร ซึ่งในปริมาณนี้หากเป็นแก๊สโซฮอล์ E20 ทั้งหมด จะมีปริมาณน้ำมัน 16 ล้านลิตรและเอทานอล 4 ล้านลิตร

"ความต้องการใช้เอทานอลจะมากขึ้น เอทานอลจะมาจากไหนได้บ้าง อ้อย กากน้ำตาล แต่ที่เป็นคำตอบคือมันสำปะหลังเพราะเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี มันสำปะหลังที่เกษตรกรปลูกอย่างทิ้งๆ ยังให้ผลผลิตได้ไร่ละ 3 ตันต่อปี หหากดูแลรักษาอย่างดีผลผลิตจะเพิ่มขึ้นได้เป็น 5-6 ตัน ส่วนสายพันธุ์มันสำปะหลังไม่ได้มีปัญหาได้เพราะที่ปลูกในไทยล้วนมีพ่อแม่ (พันธุ์) เดียวกันทั้งนั้น" รศ.ดร.กล้าณรงค์กล่าว

พร้อมกันนี้รองผู้อำนวยการจากสถาบันผลิตผลฯ มก.ยังกล่าวถึงปัญหาเอทานอลที่ล้นตลาดว่าจะกระจายออกสู่ตลาดมากขึ้นจากเหตุจูงใจให้กับทั้งผู้ใช้และผู้จำหน่ายแก๊สโซฮอล์มากขึ้น พร้อมทั้งบอกอีกว่าเป็นเรื่องดีหากรถยนต์จะ "กิน" อาหารเช่นเดียวกับคน อย่างข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น แทนที่จะ "กิน" อาหารนำเข้าอย่างน้ำมัน

ทั้งนี้เป็นการให้ความเห็นของ รศ.ดร.กล้าณรงค์ระหว่างการสัมมนาเรื่องพลังงานทดแทนระหว่างไทย-จีน ณ โรงแรมทวิน ทาวเวอร์ ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระหว่างวันที่ 28-29 ม.ค.นี้

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000011605